ที่มาของภาพ, Thai News Pix
“ไม่มีคำนี้ (รัฐประหาร) อยู่ในหัว” ผบ.ทบ. กล่าว
พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระบุกองทัพไทย ในฐานะที่เป็นส่วนราชการภายใต้การกำกับของรัฐบาลยึดจุดยืนเดียวกับอาเซียนต่อการรัฐประหารในเมียนมา พร้อมกับระบุว่ากองทัพไทยไม่ได้ติดต่อกองทัพเมียนมาถึงสาเหตุของการรัฐประหาร
“เพราะมันเป็นเรื่องการเมือง ทหารคุยกันเรื่องทหารอย่างเดียวครับ” พล.อ. ณรงค์พันธ์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรง ทบ. วันนี้ (4 ก.พ.)
สำหรับจุดยืนของกองทัพไทยต่อกองทัพเมียนมาในขณะนี้ พล.อ. ณรงค์พันธ์กล่าวว่ากองทัพไทยอาศัยหลักการของอาเซียนเหมือนรัฐบาล เพราะกองทัพเป็นส่วนราชการส่วนหนึ่งของรัฐบาล และนี่เป็นเรื่องภายในของเมียนมา แต่ในส่วนความสัมพันธ์ทางทหารยังเหมือนเดิม
“เราปฏิบัติงานทางทหาร เราปฏิบัติงานเพื่อความมั่นคง โดยเฉพาะตามแนวชายแดน เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอด มีการช่วยดูแลความปลอดภัยของประชาชนตามแนวชายแดนทั้งสองฝั่ง เรื่องสิ่งผิดกฎหมาย ยาเสพติด เรามีความร่วมมือกันตลอด”
ผู้สื่อข่าวถามถึง “ความรู้สึก” ของ ผบ.ทบ. ต่อการรัฐประหารในเมียนมา เขาตอบทันทีว่า “ผมไม่มีความรู้สึก ผมก็บอกแล้วไงคำนี้ (รัฐประหาร) ไม่มีในหัวผม แล้วก็ไม่มีมานานแล้ว เห็นป่ะมันหายไปนานแล้ว”
สำหรับการวิเคราะห์ของบางคนถึงความคล้ายกันของการรัฐประหารในเมียนมากับไทย พล.อ. ณรงค์พันธ์ตอบสั้น ๆ ว่า “ผมไม่มีความเห็นครับ”
การตอบคำถามของ ผบ.ทบ. ในประเด็นเรื่องรัฐประหารในวันนี้ คล้ายคลึงกับที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อเดือน ต.ค. 2563 ซึ่งสื่อมวลชนตั้งคำถามว่า ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. จะให้ความมั่นใจหรือให้สัญญากับประชาชน รัฐบาล หรือนักลงทุนอย่างไรว่าจะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น
คำตอบของ ผบ.ทบ. คือ “คำถามนี้ถามมาทุก ผบ.ทบ. และทุกคนก็ตอบไปหมดแล้วคือโอกาสของการทำ (รัฐประหาร) เป็นศูนย์หมด แต่ว่าอยู่บนพื้นฐานที่อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง และกระทบต่อความเดือดร้อน”
“จุดยืนอาเซียน” คือ ?
หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลของนางออง ซาน ซู จี เมื่อ 1 ก.พ. สำนักเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ณ กรุงจาการ์ตา ได้เผยแพร่เอกสารถ้อยแถลงประธานอาเซียนซึ่งในปีนี้ประเทศบรูไนทำหน้าที่เป็นประธาน มีสาระสำคัญ 4 ประเด็นคือ
1. ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ติดตามพัฒนาการณ์ของเมียนมาในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด
2. อาเซียนคำนึงถึงวัตถุประสงค์และหลักการที่ปรากฏในกฎบัตรอาเซียน รวมถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล การเคารพ และปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
3. อาเซียนขอเน้นย้ำว่า เสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองของสมาชิกอาเซียนทุกประเทศคือ กลไกสำคัญอันจะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่สันติสุข เป็นปึกแผ่น และรุ่งเรือง
4. อาเซียนสนับสนุนให้เกิดการเจรจา การปรองดอง และการคืนสู่สภาวะปกติตามเจตจำนง และผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ชาวเมียนมาที่อาศัยในประเทศไทยรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อต่อต้านรัฐประหารของกองทัพเมียนมา ที่ยึดอำนาจจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ด้วยการชูแผ่นป้ายประท้วงและเผารูปของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.
ยุทโธปกรณ์เหมือน “ของใช้ในบ้าน”
ในช่วงท้ายของการแถลงข่าววันนี้ ผบ.ทบ. ยังได้กล่าวถึงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ซึ่งถูกฝ่ายค้านตั้งคำถามมาตลอดว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด และเรียกร้องให้มีการลดงบประมาณในส่วนนี้
พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ยุทโปกรณ์ส่วนใหญ่มีความจำเป็นเหมือนของใช้ในบ้านที่เมื่อใช้ไปแล้วเสื่อมสภาพ ก็ต้องซื้อใหม่
“คุณมีของใช้ มันก็ใช้ตามระยะเวลา พอเสื่อม คุณก็ต้องซื้อใหม่ แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ ผมก็มอบนโยบายว่าเราจะลด ปีนี้ที่เสนอโครงการมาสส่วนใหญ่จะเป็นการซ่อมบำรุงให้มันใช้ได้อีกระยะหนึ่ง”
“ทุกอย่างเหมือนของใช้ในบ้าน เหมือนกระดาษทิชชู เข้าห้องน้ำต้องใช้ทิชชู ถ้าทิชชูหมดแล้วห้ามซื้อปีนี้ แล้วคุณเข้าห้องน้ำจะใช้อะไร” เขาตั้งคำถามทิ้งท้าย
กต. ติดตามผลกระทบคนไทย-ธุรกิจไทยในเมียนมา
นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์วันนี้ (4 ก.พ.) กต. ได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาและประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งอย่างใกล้ชิด สำหรับคนไทยในเมียนมาที่มีปัญหาใด ๆ ก็ตามและต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสายด่วนของสถานทูตได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โฆษก กต. ให้ข้อมูลว่าขณะนี้จุดผ่านแดนไทย-เมียนมาทั้ง 6 จุดใน 4 จังหวัด คือ แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก 2 จุด แม่สอด-เมียวดี 2 จุด บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี และ เกาะสอง จ.ระนอง ยังคงเปิดให้ประชาชนและสินค้าผ่านแดนได้ตามปกติ รวมถึงสนามบินทั่วประเทศเมียนมาด้วย
จากฐานข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูต ขณะนี้มีคนไทยอยู่ในเมียนมา 356 คน จากการติดต่อสอบถามพบว่าคนไทยในเมียนมายังดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ยังไม่มีรายงานว่าธุรกิจของคนไทยได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร
นายธานีให้ข้อมูลว่า เมียนมาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 19 ของไทยในโลกและเป็นอันดับ 7 ในอาเซียน สาขาการลงทุนของไทยในเมียนมาที่สำคัญที่สุดคือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยโครงการสำคัญคือการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลอันดามันของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย