ผลักดันเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ก้าวไกล หนุนไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ #APECพร้อมไทยพร้อม
ไทยมีศักยภาพในด้านสาธารณสุขและการบริการที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยมีโรงพยาบาลที่ได้การรับรองมาตรฐาน Joint Commission International (JCI) จำนวน 69 โรงพยาบาล ซึ่งเป็นอันดับที่ 4 ของโลก และอันดับที่ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงมีการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงนำข้อได้เปรียบดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ ด้วยการวางนโยบายกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub” ภายในระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2569 เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพในเชิงท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเป็นโอกาสต่อยอดสู่การสร้างอาชีพให้ประชาชน โดยในปัจจุบันได้มีการกำหนดแนวทางสนับสนุนทั้งหมด 5 เรื่อง ได้แก่
1) พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน (Andaman Wellness Corridor: AWC) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและหลังการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูง เช่น การรักษาโรคสลับซับซ้อน การผ่าตัดแปลงเพศ การดูแลนักท่องเที่ยวทางทะเล สปาและแหล่งน้ำพุร้อนระดับโลก เป็นต้น
2) พัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ (Wellness Industry) ด้วยนวัตกรรมสีเขียว (Green Medicine) โดยเปิดโอกาสให้มีการใช้สารสกัดจากกัญชาในทางการแพทย์ หรือสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจควบคู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และให้รัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมากขึ้น
3) พัฒนาการเป็นศูนย์กลางกัญชาโลกในรูปแบบโลกเสมือนจริง (Metaverse) ซึ่งเป็นการพัฒนาต้นแบบธุรกิจ Cannabis Digital Asset ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงธุรกิจกัญชาและกัญชงได้อย่างครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลของโลกเสมือนจริง

4) ปักหมุดบริการรักษาพยาบาลเฉพาะทางขั้นสูง (World Class Super Center) ได้แก่ จัดตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทางขั้นสูงเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง นำร่องในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี และจัดตั้งโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งอุดรธานีที่เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
และ 5) ปักหมุดให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนทางการแพทย์ โดยเพิ่มกำลังการผลิตแพทย์ทั้งหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ และหลักสูตรการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพด้านสาธารณสุขและการบริการของไทยในเวทีโลก ในการประชุมด้านสาธารณสุข (APEC Health Week) และการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 (the 12th APEC High Level Meeting on Health and the Economy: HLMHE) ระหว่างวันที่ 22 – 26 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ ไทยได้มีการผลักดันการสร้างความสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ รวมทั้งการลงทุนความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยมีการนำเสนอแนวทางรับมือโควิด-19 ของไทย และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับแนวคิด BCG Economy Model
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการแนะนำสถานที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED : ASEAN Center for Public Health Emergencies and Emerging Diseases) ที่อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ รวมทั้งมีการจัดบูธนิทรรศการภายใต้แนวคิด “Thailand Global Healthcare Destination” เพื่อผลักดันให้เกิดศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติในไทย ซึ่งมีการนำเสนอการนวดไทยและสปา, บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการรับมือกับโควิด-19, การวิจัยพัฒนา สกัด และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ โดยกรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, เทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทย เช่น Personal Based Medicine และกัญชาเพื่อการแพทย์ รวมทั้งความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมโรคโดยกรมควบคุมโรค