คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
ปมเพื่อนบ้าน
เหตุการณ์สู้รบฝั่งประเทศเมียนมาที่ส่งผลข้ามแดนมาถึงฝั่งไทย เริ่มปรากฏเป็นระยะ และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีก ไม่ยุติถาวร
โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา วันที่ 1 ก.พ.2564 ที่หยุดกลไกในระบอบประชาธิปไตยทั้งหมด จึงยากมากที่จะหาหนทางยุติความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่ทั้งกับเมียนมา การแข่งขันของมหาอำนาจ และไทย เพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นอันดับต้นของอาเซียน
เห็นได้ว่าไม่ว่าการสู้รบ หรือสถานการณ์ย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของไทย ทั้ง แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ระนอง ฯลฯ จะมีชาวบ้านหนีข้ามหรือลักลอบเข้ามายังฝั่งไทย
เมื่อสถานการณ์ในเมียนมามีผลต่อไทยมาก การตัดสินใจดำเนินนโยบายต่อเมียนมาจึงต้องไตร่ตรองและระมัดระวังสูง
กรณีที่ไทยไม่ทันได้เปิดบ้านต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือนธันวาคม เพราะทางคณะผู้มาเยือนพบผู้ติดโควิด เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
เพราะประเด็นสำคัญหนึ่งที่จะได้เจรจาและมีส่วนที่จะทำให้ไทยสร้างสมดุลทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือเรื่องเมียนมา
หลังจากนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐพูดคุยประเด็นนี้แล้วกับอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศแสดงจุดยืนด้านประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
และเป็นสองประเทศที่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยกับสหรัฐ
จังหวะที่ไทยพลาดโอกาสพบรัฐมนตรีสหรัฐด้วยเหตุสุดวิสัย ไม่กี่วันต่อมารัฐบาลไทยกลับได้หารือกับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ
หลังจากนายฮุน เซน เพิ่งประกาศออกสื่อว่าจะดึงผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา กลับเข้าที่ประชุมผู้นำอาเซียน ในฐานะที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนในปี 2565
อันเป็นมุมมองและท่าทีดังกล่าวจึงมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากที่อาเซียนแสดงออกในปี 2564 อย่างชัดเจน
การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอาจได้รับการสนับสนุนและถูกต่อต้านพร้อมๆ กัน จากชาติมหาอำนาจสองขั้ว
โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทยในปี 2565 คือจะสร้างสมดุลทางการทูตในเรื่องที่ตนเองจะได้รับผลกระทบอย่างจัง อย่างไร