ผมเว้นวรรคเรื่องการเขียนเรื่องการขุดคลองไทยมานาน หลังเคยตั้งคำถามนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เมื่อ 2 ปีก่อน ก็ต้องมาเขียนอีกรอบ เพราะเรื่องนี้โยงทั้งรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรและภาคประชาชน
ซึ่งขณะนี้ เสียงเรียกร้อง แรงขึ้นมากจริงๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อขอให้ นายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุน การนำรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาการขุดคลองไทย และการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ทำการศึกษาเสร็จแล้ว และสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้บรรจุ วาระการประชุมไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะต้องรอให้ “วิปรัฐบาล” หยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้มีการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน ในสมัยประชุมนี้
ดร.สุเมต สุวรรณพรหม รองประธานมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนคลองไทย ได้กล่าวเปิดเผยถึงการขับเคลื่อนคลองไทยว่า มูลนิธิได้ติดตามการศึกษาเรื่องคลองไทยมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วุฒิสภา ปี 2545 ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ มีนายคำนวณ ชโลปถัมภ์ เป็นประธานซึ่งเป็นแนวคิดสร้างคลองไทย สร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ระหว่างทะเลอันดามันจาก จ.ระนอง มาออกฝั่งอ่าวไทยที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งเป็นแนวคิด ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราชอาณาจักรอยุธยา กระทั่งสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระราชวังมหาสุรสีหนาถ ทรงมีพระราชดำริสร้างคลองใหญ่เชื่อม 2 ฝั่งทะเล ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษา ให้มีการเปลี่ยนแนวคลอง จากแนว 2A (คอคอดกระ) มาเป็น แนว 9A ซึ่งเป็นแนวการศึกษาปัจจุบันจากจ.ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตามข้อเสนอของ พลอากาศเอกกานต์สุระกุล สมาชิกวุฒิสภา จ.ตรัง และเรียกชื่อ แนว 9A ว่า “คลองไทย” ถึงแม้ว่าผลการศึกษาอย่างเป็นทางการในครั้งนั้นวุฒิสภาจะมีมติเห็นด้วยกับผลการศึกษา และส่งรายงานการศึกษาไปถึงรัฐบาลในปี 2548 และรัฐบาลภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทั่งรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการแห่งชาติขึ้นดำเนินการโครงการคลองไทย อย่างต่อเนื่องแต่ต้องมายุติโครงการคลองไทยเนื่องจากในปี 2549 เกิดการปฏิวัติขึ้นในประเทศไทย
แนวโน้มกระแสเรียกร้องเสียงเรียกร้อง ของภาคประชาชนในปัจจุบันที่จะให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการหยิบยกเรื่องขึ้นพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะแรงขึ้นตามลำดับ และจะพัฒนาเป็นการชุมนุมเรียกร้องในที่สุด
ดร.สุเมตกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2557 มันยาวนานเพียงพอ ที่พี่น้องประชาชนคนไทย จะออกมาทวงถาม และขอร้องรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ ให้ช่วยทำการศึกษาโครงการสร้างคลองไทยเชื่อมสองมหาสมุทร เข้าด้วยกันเพื่อให้ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ของโลก และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียอย่างแท้จริง ซึ่งองค์กรภาคเอกชน รวมถึงประชาชนคนไทยทั้งคนในพื้นที่ภาคใต้ และคนไทยในภูมิภาคต่างมั่นอก มั่นใจด้วยเอกสารข้อมูล ทางวิทยาศาสตร์และเชื่อมั่น ว่าหากประเทศไทย สร้างคลองไทยจะทำให้ประเทศไทยมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ มีเงินชำระเงินกู้สักเท่าไหร่ก็จ่ายได้ และเศรษฐกิจที่จะได้รับจาก โครงการคลองไทย จะทำให้ประเทศชาติ มั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง และมีความยั่งยืนไปถึง รุ่นลูกหลานในอนาคตได้อย่างแน่นอน ซึ่งฟังดู เป็นความเห็นที่ดี เป็นข้อเสนอที่หวังดีต่อประเทศชาติ
ประกอบกับปัจจุบันสังคมไทย ได้อยู่ในภาวะ เศรษฐกิจตกต่ำ เกิดความแตกแยกของพี่น้องประชาชนในชาติ มาอย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอแนะที่ผ่านมาของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ข้อเสนอเป็นจดหมาย ของพลเอกหาญ ลีนานนท์ อดีตวุฒิสมาชิกและแม่ทัพภาค 4ได้เสนอให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เร่งทำการศึกษาเชิงลึกโครงการคลองไทย สร้างเขตเศรษฐกิจเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทรในภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ ข้อเสนอดังกล่าว ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนในภาคใต้ และภูมิภาคอื่นๆ เป็นจำนวนมาก
จนกระทั่ง องค์กรภาคประชาชน อาทิ สมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้จำนวนมาก ได้รวมตัวกัน จัดตั้ง เป็นองค์กรนิติบุคคล ชื่อ สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา โดยมี พลเอกพงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการ มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรมติณสูลานนท์ เป็นนายกสมาคมและมี พลเอกประดิษฐ์ บุญเกิด เป็นเลขาธิการสมาคม ได้ร่วมกัน ขับเคลื่อนคลองไทย โดยการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในภาคใต้ การจัดประชุมเสวนา ในรูปแบบให้ความรู้ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจากทั่วประเทศซึ่งพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ ให้การสนับสนุน และเห็นด้วย กับการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ศึกษาเชิงลึกโครงการสร้างคลองไทย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ
กระทั่งได้มีมติของสภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาการขุดคลองไทย และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ บัดนี้ การศึกษาได้เสร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ได้บรรจุวาระเข้าประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่ภาคประชาชน ได้เพิ่มความสนใจโครงการนี้เป็นทวีคูณมีความพยายามที่จะรวมตัวกันเพื่อชุมนุมเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้เพื่อป้องกัน ไม่ให้ภาคประชาชน มีการชุมนุมเรียกร้อง ทางมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ จึงขออาสาจากตัวแทนภาคประชาชน เพื่อทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ท่านได้ให้การสนับสนุนในนามของรัฐบาลผ่านไปยังวิปรัฐบาล เพื่อให้เร่งบรรจุรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ทหารบรรจุเข้าวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรโดยด่วนต่อไป เป็นข้อเสนอ ที่เป็นขั้นเป็นตอน ที่ท่านนายกรัฐมนตรีน่าจะพิจารณาช่วยสนับสนุนนะครับ