27 ส.ค. 2564 วงเสวนาเรื่องการจัดการโควิดชี้ ไทยมีปัญหาจัดการวิกฤตสุขภาพในวงกว้าง เพราะเน้นทำงานเฉพาะหน้า ไม่มีกลไกรับมือ ขาดการจัดการองค์ความรู้และเชื่อมประสานระหว่างกระทรวง ขณะที่เงินกู้ถูกใช้ไม่ตรงจุด ซื้อวัคซีนไม่โปร่งใสอาจกลายเป็นวิกฤตหนี้สิน แนะให้ประชาชนมีส่วนร่วม
เลขาธิการ ครป. รายงานว่า คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สถาบันสังคมประชาธิปไตย ร่วมกับสำนักรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมจัดเวทีอภิปรายออนไลน์เรื่อง ”ก้าวพ้นวิกฤติรัฐล้มเหลว กับการบริหารจัดการโควิดและบทบาทการเมืองของภาคประชาชน” โดยมีบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ม.อุบลราชธานี, สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์, วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ร่วมอภิปราย ดำเนินรายการโดยเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.
บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ กล่าวเปิดการอภิปรายว่า ครป. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโควิดและบทบาทการเมืองของภาคประชาชน เพื่อก้าวพ้นวิกฤติรัฐล้มเหลว ซึ่ง ครป. จัดมาแล้วหลายครั้ง โดยเชิญผู้เชียวชาญที่รู้ปัญหาและสถานการณ์มาร่วมหาทางออกร่วมกัน ปัญหาเรื่องสุขภาพทุกท่านตระหนักดีว่าเป็นหนึ่งในสาระสำคัญและเป็นภารกิจที่รัฐจะต้องให้การดูแลและให้การคุ้มครอง ปฏิญญาสากลก็ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นสิทธิของประชาชนที่จะต้องได้รับการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพราะเป็นสิทธิพื้นฐาน และเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลกไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย
ประธาน ครป. กล่าวว่า ก่อนนี้เราเคยได้รับการชื่นชมว่าบริหารจัดการสถานการณ์โควิดได้เป็นอย่างดี แต่ตอนนี้เราตกอันดับรั้งท้าย เพราะยอดผู้ติดเชื้อทะลุหนึ่งล้านคนไปแล้ว และยอดเสียชีวิตทะลุหมื่นคน การอภิปรายวันนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยบทบาทภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองและตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ผ่านรัฐที่ล้มเหลวต่อไป
TDRI ชี้รัฐขาดกลไกรับมือวิกฤตขนาดใหญ่
วิโรจน์ ณ ระนอง กล่าวว่า ภาพรวมของวิกฤติโควิด – 19 ต้นตอของวิกฤติมาจากปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในทันที แม้กระทั่งกรณีที่มีการควบคุมโรคได้ดีผลกระทบก็รุนแรงได้ ถ้าปัญหาควบคุมโรคแก้ไม่ได้ วิกฤตินี้มีความสัมพันธ์กัน แม้ในปี 2563 ปัญหาโรคไม่รุนแรง แต่นับจากเดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นมาโรคระบาดได้คุกคามไปในวงกว้าง ทำให้ระบบบริการรักษาพยาบาลไทยรับไม่ไหว จึงได้เกิดระบบ Home Isolation ขึ้นซึ่งคุณภาพต่ำกว่าการรักษาในปกติ เรามีปัญหาเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สาธารณสุขและการเกษตร TDRI เสนอว่า ทางออกหลักคือ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต้องอาศัยวัคซีน ข่าวร้ายคือภูมิคุ้มกันหมู่อาจจะไม่เกิดจากการฉีดวัคซีน 70-75 เปอร์เซ็นต์แล้ว วิธีการที่จะต้องใช้คือวัคซีนถ้วนหน้า แม้เรามีข่าวดีในเรื่องการจัดหาวัคซีนเพิ่มมากขึ้นแต่ก็เผชิญปัญหาใหม่ เช่น การจัดการกับอัตราสูญเสียไม่ได้ และขณะนี้เรามีอัตราการระบาดอยู่ที่ 1 แสนคน
วิโรจน์กล่าวอีกว่า ระลอกสามเราเจอเชื้อสายพันธุ์แอลฟาซึ่งแพร่ระบาดที่อังกฤษ ทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดการแพร่ระบาดในเรือนจำเป็นจำนวนมาก ทำให้สถานการณ์ที่เราตามไม่ทันตั้งแต่ระลอกสามเข้าสู่วิกฤติ ทั้งสี่ระลอกอาจจะเรียกว่าห้าช่วงก็ได้ มาตรการที่เราใช้แทบไม่ต่างกันเลย ยกเว้นมาตรการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวที่ปรับใช้ตามสถานการณ์ มาตรการอื่นๆ ไม่ว่าจะการขยายโรงพยาบาลสนามหรือการฉีดวัคซีน ถ้าเราจะใช้อัตราการตายและการติดเชื้อมาวัดการบริหารจัดการของรัฐก็อาจจะเห็นความล้มเหลว แต่เราจัดการได้ดีในเรื่องของหน้ากากและการรักษาระยะห่าง เพราะคนไทยอาจจะกลัวตายมากกว่าเห็นว่าเป็นมาตรการของรัฐ ในช่วงแรกเราเชื่อในความสำเร็จโดยเทียบอัตราการตายกับประเทศตะวันตกในระลอกแรก ก็เป็นตัวอย่างที่เราหลงคิดไปว่าที่เราทำได้ดีเพราะเป็นมาตรการดี พอถึงระลอกที่สามเจอเชื้อที่ระบาดที่อังกฤษก็ทำให้เราเจอวิกฤติไม่ต่างกัน
ผู้อำนวยการวิจัยฯ TDRI ชี้ว่า เรามีปัญหาการรับมือกับวิกฤติสุขภาพที่ลุกลามในวงกว้างและยาวนาน เพราะที่ผ่านมาการรับมือวิกฤตฉุกเฉินของไทยมักตั้งรับเฉพาะหน้าแต่ไม่ได้เตรียมการตั้งกลไกขึ้นมารับมือ แม้เราจะดึงบุคลากรที่มีความรู้ แต่องค์กรก็ต้องเริ่มจากศูนย์ ไม่มีการเก็บข้อมูลเพื่อจัดการองค์ความรู้ ในระดับจังหวัดใช้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหลัก ไม่มีการเชื่อมประสานงานร่วมกับกระทรวงอย่างชัดเจน ปัญหาที่ตามมาคือ กทม. และการประกาศภาวะฉุกเฉินรวบอำนาจมาที่นายกฯ รัฐบาลมีอำนาจมาก ใช้อำนาจ และต่ออายุตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ดูเหมือนจะช่วยได้น้อยมาก
สฤณีกังวลวิกฤตหนี้สิน เหตุใช้เงินกู้ไม่ตรงจุด-ซื้อวัคซีนไม่โปร่งใส
ด้านสฤณี อาชวนันทกุล กล่าวว่า เรื่องวัคซีนเป็นปัญหาใหญ่ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และมีปัญหาอื่นๆ ด้วย ที่เป็นความผิดพลาดด้านการบริหารจัดการที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เช่น พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ที่เรากู้อย่างต่อเนื่องในจำนวนมาก ปัญหาการเงินไม่ได้อยู่ที่การกู้ แต่อยู่ที่การใช้ว่ามีการใช้ตรงจุดมากน้อยแค่ไหน สิ้นเปลือง ฉ้อฉล และมีการคอรัปชั่นมากน้อยแค่ไหน อาจจะต้องให้ ส.ส. หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบด้วย ในส่วนของสาธารณสุข เรื่องอุปกรณ์การแพทย์และการจัดหาวัคซีนที่ดำเนินการไปน้อยมาก โรงพยาบาลส่วนใหญ่ต้องออกมาขอรับบริจาคจากประชาชน
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามว่า เราได้ใช้เงินที่เราไปกู้มาตรงจุดและนำมาใช้ช่วยเหลือประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน และสิ่งที่จะตามมาคือวิกฤติหนี้สิน แต่ปัญหาคือรัฐบาลที่ผ่านมาทำได้ จำเป็นต้องทำ และไม่ทำ ภาคประชาชนจะต้องจับตาดูและเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและอาจจะต้องมีการฟ้องร้องต่อไปในอนาคต
ประเด็นแรก การใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาทอย่างตรงจุดและเป็นไปได้จริงหรือไม่ ประเด็นที่สอง เรื่องวัคซีนมีความไม่แน่นอนว่าเรื่องการผลิตและคุณภาพ ยิ่งจำเป็นที่จะต้องกระจายการซื้อหลายๆ ยี่ห้อ พอเราไม่กระจายและปักใจ ตอนแรกเราปักใจเจ้าเดียวคือแอสตราเซเนกาซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีประสบการณ์ ปัญหาต่อมาในเมื่อเรารู้ทั้งรู้ว่าจะใช้วิธีนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะมีความรัดกุม รัฐบาลไทยปกติเวลาซื้ออะไรก็ไม่อยากทำสัญญาเสียเปรียบ แต่ในสถานการณ์โควิดยังไงเราก็ต้องเสียเปรียบ ยังไงก็ตามวัคซีนก็ยังเป็นอำนาจต่อรองกับผู้ผลิต เราจะเห็นว่าลักษณะของความเสียเปรียบมีจุดที่คล้าย ๆ กัน คือ ยกเว้นการรับผิดไว้ ถ้าเกิดผลข้างเคียงบริษัทจะไม่รับผิดชอบ แต่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบ อีกเรื่องคือกำหนดการส่งมอบ เนื่องจากว่าวัคซีนเป็นสิ่งที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก บริษัทผู้ผลิตก็อาจจะไม่ต้องการระบุเวลา แต่หลายๆ ประเทศก็ระบุระยะเวลาว่าภายในเวลาเท่าไหร่ แต่แอสตราเซเนกากับเราก็เป็นสัญญาที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้ สัญญาเสียเปรียบมาก พอเกิดปัญหาในการส่งมอบ ในทางสัญญาก็ไม่มีช่องทางที่เราไม่สามารถไปเร่งรัดอะไรได้มาก
ต่อมาคือประเด็นความไม่โปร่งใสในการซื้อวัคซีนบางยี่ห้อ องค์การเภสัชกรรมทำไมยี่ห้ออื่นสามารถซื้อผ่านตัวแทน แต่ซิโนแวคเราสามารถซื้อตรงได้เลย และต่อมามีเสียงสะท้อนดังขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องประสิทธิผล ทำไมรัฐบาลยังซื้อยี่ห้อนี้อยู่ คำตอบก็อาจเพราะแอสตราเซเนกาส่งวัคซีนไม่ได้ตามกำหนดระยะเวลา งบประมาณที่ใช้ก็ใช้งบกลางที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งสามารถใช้งบเงินกู้ได้เพราะคณะกรรมการติดตามผล แต่การซื้อซีโนแวคทำไมใช้งบกลางในการซื้อ
ประเด็นต่อมา รัฐบาลทำได้แต่ไม่ทำ รัฐบาลไม่ได้ใช้ความพยายามเท่าที่ควรที่จะเร่งหาวัคซีนให้เพียงพอ หลายประเทศทั่วโลกบริจาควัคซีนแล้ว เพราะเขาหาวัคซีนไว้มากพอจนเกิน รวมไปถึงการแลกวัคซีน ล่าสุดอย่างภูฏาน ก็ให้วัคซีนให้เรายืมก่อน ทำไมของเราจึงไม่เร่งจัดหา สองวันที่แล้วเห็นข่าวว่าไปเจรจากับยุโรป ว่าจะซื้อแอสตราเซเนกาเพิ่ม ซึ่งก็น่าสงสัยว่าทำไมต้องซื้ออีก ถ้ารวมบริจาคยี่ห้อนี้จากญี่ปุ่น จากอังกฤษ ตอนนี้เรามีวัคซีนยี่ห้องนี้ 14.6 ล้านโดส เราจ่ายเงินให้บริษัทนี้ไปแล้ว ในเมื่อเราจ่ายเงินไปเยอะแล้วทำไมต้องจ่ายเพิ่มอีก ล่าสุดที่จะส่งมาไทยภายในสิ้นปี ดูจากตัวเลขที่เขาส่งมาก็ยังน่าเป็นห่วง ตอนนี้สิ่งที่ควรจะทำเราควรจะเสนอขอแก้สัญญากับแอสตราเซเนกาได้ สามารถต่อรองได้ เพื่อให้ทุกอย่างตรงไปตามแผน
ประเด็นสุดท้าย กลไกวัคซีนทางเลือกตอนนี้ก็รอดูอยู่ว่าวัคซีนโมเดอร์นาที่เราจองไว้แล้วจะได้จริงไหม ทำไมรัฐบาลก็เห็นอยู่แล้วว่ามีปัญหา ล่าช้าและไม่หลากหลาย ทำไมไม่ให้องค์การเภสัชกรรมซื้อแทนประชาชนไปเลย และทำไมต้องซื้อแค่ 5 ล้านโดส ทำไมไม่ซื้อมากกว่านั้น ถ้ารัฐบาลจะคุ้มครองประโยชน์ประชาชน ทำไมไม่ประกาศไปเลยว่าบริษัทเอกชนหรือใครก็ตามที่หาวัคซีนมาได้รัฐบาลจะรับผิดชอบเรื่องงบประมาณและความผิดพลาดเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีน คนที่ไปฉีดวัคซีนเข็มแรกที่เป็นแอสตราเซเนกายังมีความขาดแคลนและความไม่แน่นอน เพราะในเดือนสิงหาคมจะมีวัคซีนตัวนี้ 5.8 ล้านโดส เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะได้ฉีดได้ครบ
สฤณีกล่าวว่า ผลพวงที่จะตามมาจากภาวะระบาดระลอก 3 และ 4 ก็คือประเด็นหนี้สินของประชาชน น่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดกฎหมายล้มละลายให้บุคคลธรรมดาไปยื่นเป็นบุคคลล้มละลายเหมือนการเปิดให้บริษัทต่างๆ สามารถทำได้ ปัญหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะพ่อแม่ประสบปัญหาทางการเงิน ปัญหาด้านสุขภาพจิตก็คงจะมีวิกฤติยาวเป็นปี สุดท้ายอยากจะให้ร่วมติดตามมหากาพย์วัคซีน และแผนการซื้อวัคซีนในปลายปี บุคลาการทางการแพทย์ได้เรียกร้องวัคซีนประสิทธิภาพสูง แต่ยังไม่ได้เห็นความชัดเจนจากรัฐบาลในปีนี้เลย
นพ.นิรันดร์ แนะรัฐต้องเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อแก้วิกฤต
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวว่า วิกฤติความขัดแย้งในทางการเมืองตอนนี้ยังทำให้เกิดปัญหาความรุนแรง เรายังมีวิกฤติความรุนแรงจากโควิด-19 เกิดการตกงานและการโยกย้ายมากมาย วิกฤติซ้อนวิกฤติเช่นนี้จะนำมาสู่วิกฤติที่หายนะ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เราตกอยู่ในสภาพรัฐที่ล้มเหลว เรามองเห็นรัฐที่ล้มเหลว และเราในฐานะภาคประชาชนจะต้องก้าวผ่านปัญหานี้ได้อย่างใด ในขณะที่มีความเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกประชาชนไม่ควรเข้ามาร่วม แต่ในความเป็นจริงประชาชนควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองเป็นอย่างมาก เพื่อตรวจสอบรัฐ
สิ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้นจะต้องมองในเรื่องของอำนาจ ถ้าไม่มีมุมมองในการใช้อำนาจในเชิงนโยบาย กฎหมายของรัฐ ยิ่งพบการใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสม การฉ้อฉล ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพชีวิตพี่น้องประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นรัฐที่อ่อนแอ รัฐที่ล้มเหลว ทำให้เกิดฉันทามติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น คือ ต้องการการปฏิรูปในสถาบันต่างๆ ที่มีปัญหา และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก
อดีตคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ กล่าวว่า เราต้องยอมรับว่าสังคมไทยตกอยู่ในระบบอำนาจนิยม รัฐมีหน้าที่อยู่ 2 ประการแรก ทำให้เกิดความมั่นคงของประชาชน ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล รัฐมีหน้าที่จะต้องประกันความมั่นคงของประชาชน ป้องกันสิทธิในการมีชีวิตอยู่ และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่การชุมนุมทางการเมืองกลับนำมาสู่การบาดเจ็บและการดำเนินคดี
ในสถานการณ์โควิด เราพบปัญหารอเตียง รอตาย ไม่ใช่เพียงใน กทม. แต่เราประสบในภาคอีสานด้วยในห้วงเวลาที่อพยพย้ายกลับ นี่คือความมั่นคงด้านความปลอดภัยของประชาชน รัฐที่เข้มแข็งไม่ใช่เรื่องของทหาร หรือทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นรัฐที่ปกป้องความมั่นคงของชีวิตประชาชนได้
ประการที่สอง คือรัฐที่มีความมั่นคงและเข้มแข็ง ไม่ใช่ตัดสินด้วยกำลังอาวุธหรือเรื่องการทหาร ต้องมีหลักประกันในเรื่องประสิทธิภาพในการจัดการด้านสาธารณูปโภค ไม่เคยมีประเทศใดในโลกที่เจอโรคอุบัติใหม่มาก่อน การระบาดรอบแรกมันตรงไปตรงมา โรคไม่ซับซ้อน ระบบสาธารณสุขสามารถจัดการได้ แต่เมื่อโรคมันซับซ้อนมากขึ้นมีการกลายพันธุ์ มันมีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ และผู้มีโรคแทรกซ้อน สถิติในประเทศไทย
นพ.นิรันด์ ชี้ว่า การบริหารจัดการวัคซีนต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งตอนนี้มีความไม่ชัดเจน สิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ คำถามคือทำไมไม่เข้าร่วม Covax ทำไมซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพน้อย นอกจากนี้เรายังมีปัญหาบุคลากรด่านหน้า แสดงว่านโยบายของรัฐบาลที่ไล่คนออกจากกรุงเทพฯ โดยไม่มีนโยบายในการคัดกรอง เมื่อคนเหล่านี้อยู่ในแคมป์โรงงาน บ่อนการพนัน จะต้องมีการตรวจเชิงรุก เมื่อจะส่งมาต่างจังหวัดต้องรู้ว่าคนไหนต้องมีการควบคุม ตอนนี้ประสบปัญหามาตรการในการกลั่นกรอง ทั้งการจัดซื้อ ATK เป็นปัญหาความล่าช้าในระบบราชการ ซึ่งอยู่ในระบอบอำนาจนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์
ขณะนี้เราพบว่าการฉีดวัคซีนโดสแรกเราได้ฉีดแค่ 20 ล้าน ในขณะที่เราตั้งเป้าหมายว่าเราต้องฉีดให้ได้วันละ 5 แสนโดส เพราะวัคซีนไม่พอ ถ้าเราสร้างการมีความร่วมของ อปท. เราจะกระจายวัคซีนได้ แต่ตอนนี้เราฉีดวัคซีนไม่ทัน เฉลี่ย 150,000 โดส ปัญหาจึงไม่ได้เกี่ยวกับกำลังบุคลากร แต่เกี่ยวกับความขาดแคลนวัคซีน เมื่ออำนาจการจัดการไม่โปร่งใส เป็นอำนาจนิยม ใช้ความคิดเชิงอำนาจ ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล รัฐบาลจึงไม่มีทางประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองได้
อดีตคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ กล่าวว่า คนรุ่นลูกหลาน เขามีข้อมูล มีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ในขณะที่รัฐบาลทำไม่ถูกต้อง เมื่อคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาชุมนุมทางการเมือง เมื่อพวกเขาชุมนุมจะต้องแก้ไขด้วยวิธีการทางการเมือง ไม่ใช่ใช้อำนาจตำรวจ ทหาร ไปจัดการคุกคามความหลากหลาย จะต้องมีกระบวนการพูดคุย ตรงนี้เป็นปัญหาเพราะเราปกครองโดยระบบใช้อำนาจ ดังนั้นรัฐจะต้องกลับมาทบทวนเรื่องเหล่านี้ ยิ่งมีการจับกุมและดำเนินคดี ยิ่งปลุกให้คนหนุ่มสาวขึ้นมาต่อสู้เยอะ คนที่เสียหายไม่ใช่คุณประยุทธ์ แต่เป็นบ้านเมือง
ต้องมีกระบวนการรับฟังว่าสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นการปฏิรูป พวกเราอีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว แต่ลูกหลานเขาต้องรับภาระ พลังของประชาชนที่จะลุกขึ้นมาพูดคุยในสันติวิธี คือ สิ่งที่ถูกต้อง ความรุนแรงอาจจะมีบ้าง แต่เราต้องหาวิธีการพูดคุยเพื่อจะเดินต่อ เราต้องยอมรับสิ่งที่ทำแล้วผิดพลาด สังคมไทยไม่ชอบรับผิด มีแต่รับชอบ สิ่งที่จะต้องรับผิดชอบ คือรับผิดและลาออก
เรื่องความช่วยเหลือไม่ใช่แค่การแจกเงิน แต่เป็นการบริหารจัดการในเชิงระบบต้องสร้างหลักประกันที่มั่นคง ทั้งหมดนี้ต้องใช้พลังของประชาชนในการมีส่วนร่วม เพื่อก้าวผ่าน ก้าวพ้นวิกฤติ และความล้มเหลวของรัฐบาลที่ยึดโยงอยู่กับระบอบอำนาจนิยม ไม่โปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วม
ฝ่ายค้านยันมีข้อมูลรัฐมีผลประโยชน์เบื้องหลังการเยียวยาโควิด
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า การก้าวพ้นวิกฤติรัฐล้มเหลว เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน เรามีหน้าที่จะต้องตรวจสอบรัฐบาล สำหรับการแก้ปัญหาโควิด เมื่อเดือน พ.ค. ที่แล้ว ทางฝ่ายค้านก็มีการกลับมาทบทวนปัญหา การปฏิบัติของนายกฯ ประยุทธ์ ส่อไปทางการทุจริตมากมายหลายประเด็น พรรคฝ่ายค้านได้รวมตัวกันไปยื่นกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นให้มีการไต่สวน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเรื่องนี้หลายคนมองว่าการกระทำของรัฐเป็นการไปทำลายอำนาจหน้าที่ของคนที่มีความรู้ความสามารถมาไว้เป็นอำนาจของตัวเอง ทำให้ระบบการป้องกันการรักษาเยียวยาฟื้นฟูล้มเหลว เมื่อมีเงินงบประมาณและทุกอย่างแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เรายื่นเรื่องในระลอกที่ 3 ซึ่งมีคนเสียชีวิต 94 คน มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่บ้านและไม่มีการดูแล ระบบสาธารณสุขไม่ได้เข้าถึงตรงนี้ เรารู้สึกว่าเป็นความประมาท เห็นชีวิตของคนไทยมีความสำคัญน้อยกว่าความมั่นคงของตัวเองและพวกพ้อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ ย้ำว่า พรรคฝ่ายค้านจึงต้องตัดสินใจยื่นญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 31 ส.ค.– 3 ก.ย. 2564 เพราะชีวิตคนตายเราไม่ค่อยพูดถึงการเยียวยาครอบครัวคนตาย และเรามีข้อมูลบางอย่างว่า บนความล้มเหลวมันอยู่ในการตัดสินใจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เราก็จะไปทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านในสภาฯ ให้ดีที่สุด
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า แม้ไม่มีโควิด เราก็มีปัญหาความยากจนและการคอรัปชั่นที่พุ่งสูงมาก ก่อนหน้านี้เรามีปัญหาว่าบ้านเมืองเราไม่เป็นประชาธิปไตย ยังมีแนวคิดว่าคนไม่เท่ากับคน ไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ไม่เกิดการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และเรื่องความเป็นธรรมสูงสุดในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และท้ายที่สุดเราเรียกร้องว่าการปฏิรูปประเทศ ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการแต่กำลังปฏิรูปให้ตำรวจเป็นของทหาร แต่เราควรปฏิรูปให้ตำรวจเป็นของประชาชน
เลขาธิการพรรคประชาชาติตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องใช้วัคซีนที่ดีเป็นวัคซีนทางเลือก หรือคุณเห็นความปลอดภัยของคนไทยเป็นเรื่องทางเลือกหรือ เรามีปัญหาการจัดหาวัคซีน มีคนที่เสียชีวิตจำนวนมากทำไมรัฐยังนิ่งเฉย ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าถ้าเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบของรัฐ รัฐธรรมนูญระบุให้รัฐต้องเยียวยา เราจะทำอย่างไรในภาวะที่มีความเหลื่อมล้ำเยอะและรัฐบาลไม่มีความจริงใจในการจัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการยังตอบไม่ได้ว่าเราจะเปิดเรียนได้หรือเปล่า สรุปทำไม่ได้หลายอย่างเพราะติดยุทธศาสตร์ชาติ ปกติถ้าไม่มียุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลนี้ก็บริหารแบบรัฐซ้อนรัฐอยู่แล้ว อำนาจไปอยู่ในท้องถิ่นก็ไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่เป็นการอำนาจไปรวมศูนย์ให้ตัวเองบริหารได้เบ็ดเสร็จ ตอนนี้กู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า พอกู้มามันมีดอกเบี้ยเกิดขึ้น เป็นการบวกหนี้เก่ากู้หนี้ใหม่ ปีนี้ดอกเบื้ย 2.4 กว่า เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ เราโชคร้ายที่นายกฯ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ตอนนี้ประชาชนมีปัญหาด้านหนี้สินจำนวนมาก
ในประเทศที่สันติสุข คือ เราต้องมีผู้นำดี มีประชาชนเป็นหัวใจ ไม่ใช่ทหารและข้าราชการเป็นหัวใจ ประชาชนต้องเชื่อ เมื่อประชาชนไม่เชื่อ ก็ไม่สงบ เราต้องมีประชาชนที่ดี แต่ตอนนี้มีปัญหาด้านความยากจน ตอนนี้ประชาชนมีปัญหาการมีโฉนดที่ดินทำกินในอัตราที่ต่ำ เมื่อประชาชนไปอยู่ชนบท ประชาชนก็ไปอยู่ในที่ดินของรัฐ ถ้าเราปล่อยไม่มีการปฏิรูป มันจะไปไม่ได้แล้ว และตอนนี้เราไม่เห็นอนาคตเลยว่ารัฐบาลจะหารายได้อย่างไร สาธารณูปโภคต่างๆ ก็เริ่มมีเอกชนไปผูกขาดและเก็บราคากับประชาชนราคาแพง ตอนนี้ถามว่าลดค่าไฟได้ไหม ลดค่าน้ำมันได้ไหม ทำได้หมด แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ตอนนี้ความอยู่รอดของชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่จะต้องทบทวน ตอนนี้หลายปีแล้ว ยังไม่มีอะไรที่ดีขึ้น รัฐบาลก็ควรจะพิจารณาตัวเอง
ด้านกษิต ภิรมย์ ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ตนเห็นด้วยเรื่องรัฐบาลล้มเหลว แต่ปัญหาตอนนี้คือนายกรัฐมนตรีไม่ค่อยจะยอมรับ ตัวประยุทธ์เองเป็นปัญหา และเขาก็นั่งสบาย กองทัพ ข้าราชการ ทั้งหมดก็อยู่ในอาณัติ และยังมีนักธุรกิจส่วนใหญ่ และฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ยังเป็นฐาน มันก็เป็นเรื่องขององคาพยพทั้งหมดของคุณประยุทธ์นี้จะเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่ รวมทั้งประธานศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ